http://daowroong.igetweb.com
สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com 
 หน้าแรก  บทความ  เว็บบอร์ด  รวมรูปภาพ
ค้นหา  ประเภทการค้นหา   
Menu
หน้าแรก
บทความ
เว็บบอร์ด
รวมรูปภาพ
ชัยบาดาลบ้านเรา
ประวัติศาสตร์ลพบุรี
ล.ลิงลพบุรี
ล.ลิงลพบุรี 2
แผนที่ลพบุรี
คำศัพท์ Com & Net
เว็บไซต์ส่วนราชการ
เทคโนโลยีสารสนเทศ
ภาษาคอมพิวเตอร์
  SQL
  PHP
  ASP
  HTML
ท่องเที่ยวเมืองลพบุรี
มุมเพื่อสุขภาพ
เมนูอาหาร
« April 2024»
SMTWTFS
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
282930    
สถิติ
เปิดเว็บไซต์ 17/01/2008
ปรับปรุง 29/04/2024
สถิติผู้เข้าชม693,061
Page Views844,031
iGetWeb.com
เว็บสำเร็จรูป ทำเว็บ สร้างเว็บ




 

ท่องเที่ยวอำเภอเมือง

พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนารายณ์มหาราช
ตั้งอยู่กลางวงเวียนเทพสตรีใกล้ศาลากลางจังหวัดลพบุรี บริเวณหัวถนนนารายณ์มหาราชก่อนเข้าสู่ย่านตัวเมือง อนุสาวรีย์สมเด็จพระนารายณ์มหาราชเป็นรูปปั้นในท่าประทับยืนผินพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก พระหัตถ์ขวาทรงพระแสงดาบ ก้าวพระบาทซ้ายออกมาข้างหน้าเล็กน้อย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงประกอบพิธีเปิดเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2509 ที่ฐานอนุสาวรีย์ได้จารึกข้อความว่า “สมเด็จพระนารายณ์มหาราช พระมหากษัตริย์ไทยผู้ยิ่งใหญ่พระองค์หนึ่ง ทรงพระราชสมภพ ณ กรุงศรีอยุธยา พ.ศ. 2175 สวรรคต ณ เมืองลพบุรี เมื่อ พ.ศ. 2231 พระองค์ทรงมีพระบรมราชกฤษดาภินิหารเป็นอย่างยิ่ง”

ในรัชสมัยของพระองค์ วรรณคดีและศิลปะของไทยได้เจริญถึงขีดสูงสุด มีสัมพันธไมตรีกับนานาประเทศอย่างกว้างขวาง เกียรติคุณของประเทศไทยแผ่ไพศาลเป็นอย่างยิ่ง

ด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ประชาชนชาวไทยได้ร่วมกันสร้าง และประดิษฐานอนุสาวรีย์นี้ไว้ เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2509

สระแก้ว
ตั้งอยู่กลางวงเวียนศรีสุริโยทัย หรือวงเวียนสระแก้ว ถนนนารายณ์มหาราช เป็นสระน้ำขนาดใหญ่กลางสระมีสถาปัตยกรรมรูปร่างคล้ายเทียนขนาดยักษ์ ตั้งอยู่บนพานขนาดใหญ่รอบขอบพานประดับเครื่องหมายประจำกระทรวงต่าง ๆ มีสะพานเชื่อมถึงกันโดยรอบทั้ง 4 ทิศ ที่เชิงสะพานมีคชสีห์ในท่านั่งหมอบเป็นยามอยู่สะพานละ 2 ตัว

สวนสัตว์สระแก้วลพบุรี
ตั้งอยู่หลังโรงภาพยนต์ทหารบก สวนสัตว์แห่งนี้สร้างขึ้นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2483 สมัยที่จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรีนั้นได้มุ่งพัฒนาเมืองลพบุรีให้เป็นเมืองสำคัญ โดยได้ก่อสร้างสิ่งต่าง ๆ มากมายรวมทั้งสวนสัตว์แห่งนี้ด้วย ต่อมาเมื่อสิ้นยุคสมัยของจอมพล ป.พิบูลสงคราม สวนสัตว์ก็พลอยถูกทอดทิ้งและร้างไปในที่สุด

ต่อมาในปี พ.ศ. 2520 ศูนย์สงครามพิเศษ ซึ่งเป็นเจ้าของสถานที่สวนสัตว์ได้ร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งชมรม สโมสร พ่อค้า ประชาชน ดำเนินการปรับปรุงบูรณะสวนสัตว์แห่งใหม่ ให้เป็นที่สำหรับพักผ่อนหย่อนใจและเป็นแหล่งสำหรับศึกษาหาความรู้ในเรื่องสัตว์และพืช

สวนสัตว์สระแก้วลพบุรี มีบริการร่มรื่น กว้างขวาง มีสัตว์ต่าง ๆ หลายชนิด มีสนามเด็กเล่น ศาลาอเนกประสงค์สำหรับจัดกิจกรรมต่าง ๆ มีสระน้ำสำหรับผู้ประสงค์จะลอยเรือเล่น นับเป็นสวนสัตว์ในต่างจังหวัดที่มีความสมบูรณ์พอสมควรแก่การบริการประชาชนในท้องถิ้น เปิดบริการทุกวันตั้งแต่เวลา 08.00 น. - 18.00 น. ค่าผ่านประตูผู้ใหญ่ 10 บาท เด็ก 5 บาท รถยนต์ 5 บาท

พระที่นั่งไกรสรสีหราช
(พระที่นั่งเย็นหรือตำหนักทะเลชุบศร)ตั้งอยู่ที่ตำบลทะเลชุบศร ห่างจากตัวเมืองไปประมาณ 4 กิโลเมตร เป็นที่ประทับอีกแห่งหนึ่งของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชณเมืองลพบุรีสมเด็จพระนารายณ์ฯโปรดให้สร้างขึ้นเพื่อทรงสำราญพระราชอริยาบถ บันทึกของชาวฝรั่งเศส กล่าวว่า เมื่อสมเด็จพระนารายณ์ประพาสป่าล่าช้างบริเวณภูเขาทางทิศตะวันออก แล้วจะกลับเข้าเสด็จประทับ ณ พระที่นั่งองค์นี้ สร้างขึ้นในปีใดในรัชกาลของพระองค์ไม่ทราบแน่ชัด แต่จากการที่พระองค์ได้ทรงต้อนรับพระราชอาคันตุกะจากประเทศฝรั่งเศส ณ พระที่นั่ง ใน พ.ศ. 2228 จึงเป็นหลักฐานที่แน่ชัดว่าพระที่นั่งเย็นได้สร้างก่อน พ.ศ. 2228 องค์พระที่นั่งตั้งอยู่บนเกาะกลางทะเลชุบศร ซึ่งในสมัยโบราณเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีเขื่อนหินถือปูนล้อมรอบ สภาพปัจจุบันเหลือแต่ผนังเครื่องบนหักพังหมดแล้ว

ลักษณะทางสถาปัตยกรรม คือ เป็นพระที่นั่งชั้นเดียว มีผนังเป็นทรงจตุรมุข ตรงมุขหน้าเป็นมุขเด็จยื่นออกมา และมีสีหบัญชรกลางมุขเด็จสำหรับสมเด็จพระนารายณ์ฯ เสด็จออกซุ้มหน้าต่าง และซุ้มประตูทำเป็นซุ้มเรือนแก้ว เป็นแบบแผนที่นิยมทำกันมากในอาคารสมัยสมเด็จพระนารายณ์ฯ

ในบริเวณพระที่นั่งเย็นมีอาคารเล็กๆ ก่อด้วยอิฐอื่นๆ อีก ซึ่งทำประตูหน้าต่างเป็นแบบโค้งแหลม ซึ่งเข้าใจว่าคงเป็นที่พักทหาร ด้านหน้าและด้านหลังพระที่นั่งมีเกยทรงม้าหรือช้างด้านละแห่ง

พระที่นั่งเย็นมีความสำคัญในฐานะที่สมเด็จพระนารายณ์ฯ ใช้เป็นสถานที่สำรวจจันทรุปราคา เมื่อ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2228 และทอดพระเนตรสุริยุปราคา เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2231ร่วมกับบาทหลวงเยซูอิต และบุคคลในคณะทูตชุดแรก ที่พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งประเทศฝรั่งเศสส่งมาเจริญสัมพันธไมตรี เหตุที่ได้ใช้พระที่นั่งเย็นเป็นที่สำรวจ จันทรุปราคา มีบันทึกของชาวฝรั่งเศสกล่าวว่าเป็นที่เหมาะสมมองท้องฟ้าได้ทุกด้าน และมีพื้นที่กว้างมากพอสำหรับที่จะติดตั้งเครื่องมือ ยังมีภาพการสำรวจจันทรุปราคาที่พระที่นั่งเย็นซึ่งชาวฝรั่งเศสวาดไว้ เป็นรูปสมเด็จพระนารายณ์ฯ ทรงสวมลอมพอก ทรงกล้องส่องยาววางบนขาตั้ง ทอดพระเนตรดวงจันทร์จากสีหบัญชรของพระที่นั่งเย็น และตรงเฉลียงสองข้างสีหบัญชรด้านหนึ่งมีขุนนางหมอบกราบ อีกด้านหนึ่งมีนักดาราศาสตร์กำลังสังเกตการณ์โดยใช้กล้องส่อง จึงกล่าวได้ว่า การศึกษาวิชาดาราศาสตร์สมัยใหม่เกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศไทย ณ พระที่นั่งเย็น เมืองลพบุรีนี้เอง

ศาลพระกาฬ
อยู่ใกล้สถานีรถไฟและทางด้านทิศตะวันออกพระปรางค์สามยอด ตำบลท่าหิน เป็นเทวสถานเก่าของขอม สร้างด้วยศิลาแลงเรียงซ้อนกันเป็นฐานสูง จึงรียกกันมาแต่ก่อนอีกชื่อหนึ่งว่า “ศาลสูง” ที่ทับหลังสลักเป็นรูปพระนารายณ์บรรทมสินธุ์ทำด้วยศิลาทราย 1 แผ่น อายุราวพุทธศตวรรษที่ 15 วางอยู่ติดฝาผนังวิหารหลังเล็ก ชั้นบน ณ ที่นี้ได้พบหลักศิลาจารึกแปดเหลี่ยมจารึกอักษรมอญโบราณ

ส่วนด้านหน้าเป็นศาลที่สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2496 โดยสร้างทับบนรากฐานเดิมที่สร้างไว้ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ภายในวิหารประดิษฐานพระนารายณ์ยืน ทำด้วยศิลา 2 องค์ องค์เล็กเป็นแบบเทวรูปเก่าในประเทศไทย องค์ใหญ่เป็นประติมากรรมแบบลพบุรี แต่พระเศียรเดิมหายไป ภายหลังมีผู้นำพระเศียรพระพุทธรูปศิลาทรายสมัยอยุธยามาสวมต่อไว้เป็นที่เคารพสักการะของประชาชนทั่วไป

ในบริเวณรอบศาลพระกาฬร่มรื่นด้วยต้นไม้ใหญ่ จึงเป็นที่อยู่อาศัยของฝูงลิงจำนวนมาก ซึ่งกลายเป็นสัญลักษณ์อีกอย่างหนึ่งของจังหวัดลพบุรี มีร้านขายของที่ระลึกและอาหารสำหรับลิง ตลอดจนศาลาพักผ่อนมีถนนตัดรอบทำให้โบราณสถานมีลักษณะเป็นวงเวียน

พระปรางค์สามยอด
ตั้งอยู่บนเนินดินด้านตะวันตกของทางรถไฟ ใกล้กับศาลพระกาฬ ตำบลท่าหิน มีลักษณะเป็นปรางค์เรียงต่อกัน 3 องค์ มีฉนวนทางเดินเชื่อมติดต่อกัน พระปรางค์สามยอดเป็นศิลปะเขมรแบบบายน ซึ่งมีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 18 สร้างด้วยศิลาแลง หินทรายและตกแต่งลวดลายปูนปั้นที่สวยงาม ตรงซุ้มประตูเดิมคงมีทับหลัง แต่ที่เหลืออยู่ในปัจจุบัน คือ เสาประดับกรอบประตูแกะสลักเป็นรูปฤาษีนั่งชันเข่าในซุ้มเรือนแก้ว ซึ่งเป็นแบบเฉพาะของเสาประดับกรอบประตูศิลปเขมรแบบบายน ปรางค์องค์กลางมีฐานแต่เดิมเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปและมีเพดานไม้เขียนลวดลายเป็นดอกจันทน์สีแดง

ด้านหน้าทางทิศตะวันออกมีวิหารสร้างขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชประดิษฐานพระพุทธรูปศิลาขนาดใหญ่ปางสมาธิที่สมบูรณ์ดี เป็นศิลปะแบบสมัยอยุธยาตอนต้น อายุราวพุทธศตวรรษที่ 20

ปรางค์สามยอดนี้แต่เดิมคงเป็นเทวสถานของขอมในพุทธศาสนาลัทธิมหายาน ต่อมาได้ดัดแปลงเป็นเทวสถานโดยมีฐานศิวลึงค์ปรากฏอยู่ในองค์ปรางค์ทั้งสามปรางค์ จนกระทั่งถึงรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ฯ จึงได้บูรณะปฏิสังขรณ์พระปรางค์สามยอดเป็นวัดในพุทธศาสนา แล้วสร้างพระวิหารก่อด้วยอิฐ ลักษณะสถาปัตยกรรมแบบอยุธยาผสมแบบยุโรป ในส่วนของประตูและหน้าต่าง ภายในวิหารประดิษฐานพุทธรูปหินทรายปางมารวิชัย ศิลปะอยุธยาตอนต้น ปัจจุบันยังคงประดิษฐานอยู่กลางแจ้ง

เทวสถานปรางค์แขก
อยู่ใกล้กับนารายณ์ราชนิเวศน์ เป็นปรางค์ก่อด้วยอิฐมี 3 องค์ แต่ไม่มีฉนวนเชื่อมต่อกันเหมือนปรางค์สามยอด นักโบราณคดีกำหนดว่า มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 15 เพราะมีลักษณะคล้ายกับปรางค์ศิลปะเขมรแบบพะโค (พ.ศ. 1425-1536) เป็นปรางค์แบบเก่า ซึ่งมีประตูทางเข้าแบบโค้งแหลม ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ฯ โปรดให้สร้างวิหารขึ้นด้านหลัง และถังเก็บน้ำ ซึ่งอยู่ทางด้านทิศใต้ของปรางค์

วัดมณีชลขัณฑ์
สร้างในสมัยรัชการที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของตลาดท่าโพธิ์ มีโบราณสถานที่น่าสนใจคือ พระเจดีย์รูปทรงแปลก คือก่อเป็นเหลี่ยมสูงชะลูดขึ้นไป เหลี่ยมคล้ายกับเจดีย์เหลี่ยมสมัยเชียงแสน (ล้านนา) แต่ตรงมุมมีการย่อมุมไม้สิบสอง ทำเป็นสามชั้น มีซุ้มประตูยอดแหลมอยู่ด้านข้างทั้งสี่ด้านทุกชั้น

วัดนครโกษา
อยู่ทางตอนเหนือของสถานีรถไฟลพบุรีด้านทิศตะวันออกใกล้กับศาลพระกาฬ มีซากโบราณสถาน คือ เจดีย์องค์ใหญ่สมัยทวาราวดี พระปรางค์สมัยลพบุรีในราวพุทธศตวรรษที่ 17 อยู่ด้านหน้า แต่พระพุทธรูปปูนปั้นแบบอู่ทองบนปรางค์นั้นสร้างขึ้นภายหลัง และยังพบเทวรูปขนาดใหญ่มีร่องรอยการดัดแปลงเป็นพระพุทธรูป 2 องค์ ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสมเด็จพระนารายณ์ เทวสถานแห่งนี้ภายหลังสร้างเป็นวัดขึ้นในสมัยอยุธยา ดังจะเห็นได้จากซากวิหารซึ่งเหลือแต่ผนัง และเสาอยู่ทางด้านหน้าและมีเป็นเจดีย์สูงก่อด้วยอิฐอยู่เบื้องหลัง คำว่า “วัดนครโกษา” มีผู้สันนิษฐานว่า เจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ฯ เป็นผู้บูรณะจึงเรียกว่า “วัดนครโกษาปาน” ตามราชทินนามนั่นเอง

วัดสันเปาโล
ตั้งอยู่ถนนร่วมมิตร ทางเข้าวิทยาลัยนาฏศิลป์ลพบุรี เป็นวัดของพวกบาทหลวงเยซูอิต สร้างขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ฯ ปัจจุบันคงเหลือเพียงผนังด้านหนึ่งและหอดูดาว บริเวณโดยรอบมีต้นไม้ใหญ่ร่มรื่น คำว่า “สันเปาโล” คงเพี้ยนมาจากคำว่าเซ็นตปอลหรือเซ็นทเปาโล ชาวบ้านมักเรียกกันว่า “ตึกสันเปาหล่อ”

วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ
เป็นวัดเก่าแก่และมีชื่อเสียงมากที่สุดของลพบุรีตั้งอยู่หลังสถานีรถไฟลพบุรี อยู่ถัดไปทางทิศตะวันออกของพระปรางค์สามยอด วัดนี้มีมาตั้งแต่สมัยขอมมีอำนาจปกครองลพบุรีอยู่แต่ได้นับการบูรณะปฏิสังขรณ์สืบต่อมาหลายยุคหลายสมัยทำให้ศิลปกรรมที่ปรากฏเหลืออยู่จึงแตกต่างกันมาก

เมื่อเข้าไปในบริเวณวัด จะพบศาลาเปลื้องเครื่องเป็นอันดับแรก ศาลากลางเปลื้องเครื่องนี้ใช้เป็นที่สำหรับพระเจ้าแผ่นดินเปลื้องเครื่องทรงก่อนที่จะเข้าพิธีทางศาสนาในพระวิหารหรือพระอุโบสถ ศาสนาเปลื้องเครื่องตั้งอยู่หน้าวิหารคงเหลือเพียงเสาเอนเอียงอยู่เท่านั้น ส่วนอื่นปรักหักพังไปหมดแล้ว ถัดจากศาลาเปลื้องเรื่องเป็นวิหารหลวง ซึ่งสร้างในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ฯ เป็นวิหารขนาดใหญ่มาก ประตูทำเป็นเหลี่ยมแบบไทย หน้าต่างเจาะช่องแบบโกธิคของฝรั่งเศส ภายในสร้างฐานชุกชีระดิษฐานพระพุทธรูปทางทิศใต้ของวิหารหลวงเป็นพระอุโบสถขนาดย่อม ประตูหน้าต่างเป็นแบบฝรั่งเศสทั้งหมด ห่างไปทางทิศตะวันตกของวิหารหลวงเป็นพระปรางค์องค์ใหญ่ที่สูงที่สุดในลพบุรี สร้างเป็นพุทธเจดีย์ องค์ปรางค์ก่อด้วยศิลาแลงโบกปูน มีเครื่องประดับลวดลายเป็นพระพุทธรูปและพุทธประวัติ เดิมคงจะสร้างในสมัยขอมเรืองอำนาจ แต่ได้รับการซ่อมแซมในสมัยสมเด็จพระราเมศวร สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ และสมเด็จพระนารายณ์ฯ ลวดลายจึงมีปะปนกันหลายสมัย ปรางค์องค์นี้เดิมบรรจุพระพุทธรูปไว้เป็นจำนวนมาก ที่ขึ้นชื่อคือ พระเครื่องสมัยลพบุรี เช่น พระหูยาน พระร่วง ซึ่งมีการขุดพบเป็นจำนวนมาก

วัดเสาธงทอง
ตั้งอยู่บนถนนฝรั่งเศสซึ่งตัดเชื่อมระหว่างพระราชวังนารายณ์ฯ กับบ้านหลวงรับราชทูต เป็นวัดเก่าแก่เดิมแยกเป็น 2 วัด คือ วัดรวก และวัดเสาธงทอง พระยาโบราณราชธานินทร์ (พร เตชะคุปต์) สมุหเทศาภิบาลมณฑลอยุธยา ได้รายงานกราบทูลเสนอความเห็นต่อสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณาโรรส เมื่อคราวเสด็จตรวจการคณะสงฆ์ในมณฑลอยุธยาว่า วัดรวกมีโบสถ์ วัดเสาธงมีวิหาร สมควรจะรวมเป็นวัดเดียวกัน ทรงดำริเห็นชอบให้รวมกัน และให้เรียกชื่อว่า วัดเสาธงทอง

วัดนี้มีโบราณสถานที่ควรชม คือ พระวิหารซึ่งแต่เดิมคงสร้างขึ้นเพื่อเป็นศาสนสถานของศาสนาอื่น เพราะจากแผนที่ของช่างชาวฝรั่งเศสทำไว้ ระบุว่าพื้นที่บริเวณนั้นเป็นที่พำนักของชาวเปอร์เซีย พระวิหารหลังนี้อาจเป็นที่ประกอบพิธีทางศาสนาอิสลามของชาวเปอร์เซียก็เป็นได้ นอกจากนั้นก็มีตึกปิจู ตึกคชสาร หรือตึกโคระส่าน เป็นตึกเก่าสันนิษฐานว่าใช้เป็นที่พำนักของแขกเมืองและราชทูตต่างประเทศชาวเปอร์เซีย

บ้านหลวงรับราชทูต หรือ บ้านหลวงวิชาเยนทร์
ตั้งอยู่บนถนนวิชาเยนทร์ ห่างจากปรางค์แขกประมาณ 300 เมตร ทางทิศเหนือของพระนารายณ์ราชนิเวศน์ สร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทูตจากประเทศฝรั่งเศสชุดแรกที่เข้ามาเมื่อปี พ.ศ. 2228 ได้พัก ณ สถานที่แห่งนี้ จึงได้ชื่อว่า บ้านหลวงรับราชทูต และเนื่องจากสถานที่นี้เป็นที่พำนักของเจ้าพระยาวิชยาเยนทร์ ขุนนางสำคัญในสมัยนั้น ในภายหลังจึงได้ชื่อว่า “บ้านวิชาเยนทร์” อีกชื่อหนึ่ง

พื้นที่ในบริเวณบ้านหลวงรับราชทูตแบ่งออกเป็น 3 ส่วน สังเกตได้จากประตูเข้าด้านหน้า ซึ่งสร้างไว้สำหรับเป็นทางเข้าออกแต่ละส่วน คือ

ส่วนทิศตะวันตก ส่วนกลาง และส่วนทางทิศตะวันออก ส่วนทิศตะวันตก เป็นกลุ่มอาคาร ได้แก่ ตึก 2 ชั้นหลังใหญ่ก่อด้วยอิฐ และอาคารชั้นเดียว แคบยาว ซุ้มประตูทางเข้าเป็นรูปโค้งครึ่งวงกลม

ส่วนกลาง มีอาคารที่สำคัญ คือ ฐานของสิ่งก่อสร้างซึ่งเข้าใจว่าเป็นหอระฆังและโบสถ์คริสตศาสนา ซึ่งอยู่ทางด้านหลังซุ้มประตูทางเข้าเป็นรูปจั่ว

ส่วนทิศตะวันออก ได้แก่ กลุ่มอาคารใหญ่ 2 ชั้น มีบันไดขึ้นทางด้านหน้าเป็นรูปโค้งครึ่งวงกลม ซุ้มประตูทางเข้ามีลักษณะเช่นเดียวกับทางทิศตะวันตก

ลักษณะของสถาปัตยกรรมในบ้านหลวงรับราชทูตบางหลัง เป็นแบบยุโรปอย่างแท้จริง โดยเฉพาะอาคารใหญ่ทางทิศตะวันออก ก่ออิฐถือปูนสูง 2 ชั้น หน้าต่างและซุ้มประตูแสดงให้เห็นลักษณะศิลปะตะวันตกแบบเรอเนสซองส์ ซึ่งเจริญแพร่หลายในระยะเวลาเดียวกัน และที่สำคัญอีก คือ อาคารที่เป็นโบสถ์คริสตศาสนาผังและแบบของโบสถ์เป็นแบบยุโรป มีซุ้มประตูหน้าต่างเป็นซุ้มเรือนแก้ว มีเสาปลายเป็นรูปกลีบบัวยาว ซึ่งเป็นศิลปะแห่งไทย โบสถ์เหล่านี้ถือกันว่าเป็นโบสถ์คริสตศาสนาหลังแรกในโลกที่ตกแต่งด้วยลักษณะของโบสถ์ทางพระพุทธศาสนา

พระนารายณ์ราชนิเวศน์
เป็นพระราชวังสมเด็จพระนารายณ์มหาราชโปรดให้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2290 เพื่อใช้เป็นที่ประทับ ณ เมืองลพบุรี แบ่งเป็นเขตพระราชฐานชั้นนอก เขตพระราชฐานชั้นกลาง และเขตพระราชฐานชั้นใน กำแพงพระราชวังก่อด้วยอิฐถือปูนมีใบเสมาเรยงรายบนสันกำแพงมีซุ้มประตูทั้งหมด 11 ประตู ช่องประตูทางเข้าโค้งแหลม หลังตาประตูเป็นทรงจตุรมุข ตรงจั่วซุ้มประตูตกแต่งลายกระจังปูนปั้นที่วิวัฒนาการมาจากดอกบัว ที่ซุ้มประตูและกำแพงพระราชฐานชั้นกลางและชั้นในมีช่องเล็ก ๆ เจาะเป็นรูปโค้งแหลมคล้ายบัวเรียงเป็นแถวสำหรับวางตะเกียง ประมาณ 2,000 ช่อง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4 ) โปรดเกล้าฯ ให้ซ่อมแซมขึ้นใหม่เมื่อ พ.ศ.2399 เพื่อให้เป็นราชธานีชั้นใน และพระราชทานชื่อว่า “พระนารายณ์ราชนิเวศน์” ซึ่งสิ่งก่อสร้างที่สร้างขึ้นในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชและในรัชสัมยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้แก่ พระที่นั่งและตึกซึ่งสร้างขึ้นในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

พระที่นั่งดุสิตสวรรค์ธัญญมหาปราสาท
เป็นพระที่นั่งศิลปกรรมแบบไทยและฝรั่งเศสผสมกัน เดิมเป็นท้องพระโรงมียอดแหลมทรงมณฑป ตรงกลางท้องพระโรงมีสีหบัญชร เป็นที่เสด็จออกเพื่อทรงมีพระราชปฏิสันถารกับผู้เข้าเฝ้า ฝาผนังประดับด้วยกระจกเงา ซึ่งนำมาจากประเทศฝรั่งเศส ประตูและหน้าต่างท้องพระโรงซึ่งอยู่ด้านหน้าทำเป็นโค้งแหลม ส่วนตัวมณฑปซึ่งอยู่ด้านหลังทำประตูหน้าต่างเป็นซุ้มแบบไทย คือ ซุ้มเรือนแก้วฐานสิงห์ ผนังด้านนอกพระที่นั่งตรงมณฑปชั้นล่างเจาะเป็นช่องโค้งแหลมไว้สำหรับวางตะเกียง ซึ่งจะเห็นได้อีกเป็นจำนวนมากตามซุ้มประตูและกำแพงของพระราชวัง สมเด็จพระนารายณ์เคยเสด็จออกรับคณะราชทูตฝรั่งเศส เชอวาเลีย เดอ โชมองต์ ที่พระที่นั่งองค์นี้ในปี พ.ศ. 2228 ด้วย

พระที่นั่งจันทรพิศาล
สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2208 เป็นที่ประทับของสมเด็จพระนารายณ์ฯ ที่สร้างทับลงไปบนรากฐานเดิมของพระที่นั่งซึ่งพระราเมศวรโอสรองค์ใหย๋ของพระเจ้าอู่ทอง ได้ทรงสร้างเมื่อครั้งครองเมืองลพบุรี พระที่นั่งองค์นี้เป็นสถาปัตยกรรมแบบไทยแท้ ด้านหน้ามีมุขเด็จ ภายหลังเมื่อได้สร้างพระที่นั่งสุทธาสวรรค์ขึ้น สมเด็จพระนารายณ์ฯ ทรงย้ายไปประทับที่พระที่นั่งองค์ใหม่ และโปรดให้ใช้พระที่นั่งจันทรพิศาลเป็นที่ออกขุนนาง ซึ่งตรงกับบันทึกของชาวฝรั่งเศสว่าเป็นหอประชุมองคมนตรี ในสมัยรัชกาลที่ 4 ทรงบูรณะพระที่นั่งองค์นี้ตามแบบของเดิม ปัจจุบันใช้จัดแสดงเรื่องราวพระราชประวัติของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชและงานประณีตศิลป์สมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์

พระที่นั่งสุทธาสวรรค์
เป็นที่ประทับส่วนพระองค์ของสมเด็จพระนารายณ์สมเด็จพระนารายณ์ฯ ตั้งอยู่ในเขตพระราชฐานชั้นใน บันทึกของชาวฝรั่งเศสกล่าวว่า พระที่นั่งองค์นี้ตั้งอยู่ในพระราชอุทยานที่ร่มรื่น ทรงปลูกพรรณไม้ต่างๆ ด้วยพระองค์เอง หลังคาพระที่นั่งมุงด้วยกระเบื้องเคลือบสีเหลือง ที่มุมทั้งสี่ มีสระน้ำใหญ่สี่สระ เป็นที่สรงสนานของพระเจ้าแผ่นดิน สมเด็จพระนารายณ์ฯ สวรรคต ณ พระที่นั่งองค์นี้ใน พ.ศ.2231

ตึกพระเจ้าเหา
ตั้งอยู่ทางด้านใต้ของเขตพระราชฐานชั้นนอก ตึกหลังนี้แสดงให้เห็นถึงลักษณะสถาปัตยกรรมสมัยสมเด็จพระนารายณ์ฯ ได้อย่างชัดเจนมาก เป็นตึกที่สร้างเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 10 เมตร ยาว 20 เมตร ยกพื้นสูงขึ้นไปประมาณ 1 เมตร ตัวตึกเป็นรูปทรงไทย ฐานก่อด้วยศิลาแสง และจึงก่ออิฐขึ้นมาอีกชั้นหนึ่ง ปัจจุบันเหลือแต่ผนังประตูหน้าต่าง ทำเป็นซุ้มเรือนแก้วฐานสิงห์ ปัจจุบันคงปรากฏลายให้เห็นอยู่ ด้วยเหตุว่าภายในตึกมีฐานชุกชีปรากฏให้เห็นอยู่และชาวฝรั่งเศสได้ระบุว่าเป็นวัด จึงสันนิษฐานว่าเป็นหอพระประจำพระราชวัง ตึกพระเจ้าเหาหรือ “พระเจ้าหาว” (หาว=ท้องฟ้า-ภาษาไทยโบราณ) ในตอนปลายรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ฯ พระเทพราชา และขุนหลวงสรศักดิ์ใช้ตึกพระเจ้าเหาเป็นที่นัดแนะประชุมขุนนางและทหารเพื่อแย่งชิงราชสมบัติขณะที่สมเด็จพระนารายณ์ฯ ทรงพระประชวรหนัก

ตึกรับรองคณะทูตต่างประเทศ
ตั้งอยู่ในเขตพระราชฐานชั้นนอก บันทึกของชาวฝรั่งเศสกล่าวว่า ตึกหลังนี้อยู่กลางอุทยาน ซึ่งแบ่งเป็นช่องสี่เหลี่ยมจัตุรัส รอบตึกมีคูน้ำล้อมรอบ ภายในคูน้ำมีน้ำพุเรียงรายได้ระยะยาว 20 แห่ง สมเด็จพระนารายณ์ฯ ได้พระราชทานเลี้ยงแก่คณะทูตจากประเทศฝรั่งเศส ณ สถานที่นี้ใน พ.ศ. 2228 และ พ.ศ. 2230

พระคลังศุภรัตน์ (หมู่ตึกสิบสองท้องพระคลัง)
เป็นหมู่ตึกตั้งอยู่ระหว่างถังเก็บน้ำประปาและตึกซึ่งใช้เป็นสถานที่พระราชทานเลี้ยงชาวต่างประเทศ สร้างขึ้นอย่างมีระเบียบด้วยอิฐเป็น 2 แถวยาวเรียงชิดติดกัน อาคารมีลักษณะค่อนข้างทึบ มีถนนผ่ากลาง มีจำนวนรวม 12 หลัง เข้าใจว่าเป็นคลังเพื่อเก็บสินค้า หรือเก็บสิ่งของเพื่อใช้ในราชการ

อ่างซับเหล็ก หรืออ่างซับเหล็กหรือถังเก็บน้ำ
อยู่ในเขตตำบลนิคมสร้างตนเองห่างจากศาลากลางจังหวัดไปทางทิศตะวันออกประมาณ 16 กิโลเมตร

อ่างซับเหล็กเป็นอ่างเก็บน้ำธรรมชาติที่มีมาแต่โบราณ ในสมัยแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ฯ ทรงโปรดให้ช่างชาวฝรั่งเศสและชาวอิตาเลียนเป็นผู้วางท่อส่งน้ำจากอ่างซับเหล็กนำมาใช้ในเขตพระราชฐาน

อ่างซับเหล็กมีเนื้อที่ประมาณ 1,760 ไร่ เมื่อปี พ.ศ. 2497 สมัยจอมพล ป. พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี ได้ให้สร้างเขื่อนดินกั้นน้ำเพื่อเก็บน้ำไว้ใช้เพื่อการเกษตร ต่อมาในปี พ.ศ. 2520 จังหวัดลพบุรีได้ปรับปรุงอ่างซับเหล็กให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ โดยทำถนนรอบอ่างเก็บน้ำ ปลูกต้นไม้และสร้างศาลาพักร้อน

โรงช้างหลวง
ตั้งเรียงรายเป็นแถวชิดริมกำแพงเขตพระราชฐานชั้นนอกด้านในสุด โรงช้างส่วนใหญ่ปรักหักพังเหลือแต่ฐานปรากฎให้เห็นประมาณ 10 โรง ช้างซึ่งยืนโรงในพระราชวัง คงเป็นช้างหลวงหรือช้างสำคัญ สำหรับใช้เป็นพาหนะของสมเด็จพระนารายณ์ฯ เจ้านายหรือขุนนางชั้นผู้ใหญ่ พระที่นั่งและตึกซึ่งสร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

หมู่พระที่นั่งพิมานมงกุฎ
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯ ให้สร้างหมู่พระที่นั่งองค์นี้ขึ้นใน พ.ศ. 2405 ประกอบด้วยพระที่นั่งต่างๆ คือ มุขด้านซ้ายมือ พระที่นั่งอักษรศาสตราคมเป็นที่ทรงพระอักษร มุขด้านขวามือคือพระที่นั่งไชยศาสตรากร เป็นที่เก็บอาวุธ พระที่นั่งองค์ขวางตรงกลาง คือพระที่นั่งวิสุทธิวินิจฉัย ใช้เป็นท้องพระโรงเสด็จออกว่าราชการ ด้านหลังสุดเป็นอาคารสูง 3 ชั้น คือ พระที่นั่งพิมานมงกุฎ เป็นที่ประทับส่วนพระองค์

หมู่ตึกพระประเทียบ
ตั้งอยู่บริเวณหลังพระที่นั่งพิมานมงกุฎ ซึ่งเป็นเขตพระราชฐานฝ่ายใน ก่อด้วยอิฐถือปูนสูง 2 ชั้น เรียงรายอยู่ 8 หลัง สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่พักของข้าราชการฝ่ายใน

ทิมดาบหรือที่พักของทหารรักษาการณ์
เมื่อเดิน ผ่านประตูทางเข้าเขตพระราชฐานชั้นกลาง ข้างประตูทั้งสองด้านตรงบริเวณสนามหญ้าจะแลเห็น ศาลาโถงข้างละหลัง นั่นคือตึกซึ่งสร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นที่พักของทหารรักษาการณ์ในเขตพระราชวัง

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสมเด็จพระนารายณ์
ได้มีการจัดตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติขึ้นในพระราชวังนารายณ์ราชนิเวศน์ นับเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติแห่งที่ 3 ที่ได้ตั้งขึ้นในประเทศไทย แห่งแรกนั้นคือ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร แห่งที่ 2 คือ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจันทรเกษม พระนครศรีอยุธยา แห่งที่ 3 คือ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสมเด็จพระนารายณ์ฯ ลพบุรี ซึ่งตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2466

อาคารจัดแสดงศิลปโบราณวัตถุในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสมเด็จพระนารายณ์ฯ จัดแบ่งออกเป็นห้องต่าง ๆ ดังนี้

ห้องพระที่นั่งจันทรพิศาล
เป็นลักษณะสถาปัตย กรรมแบบทรงไทย จัดแสดงเรื่องประวัติศาสตร์ การเมือง สังคม วัฒนธรรม และพระราชประวัติของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

ห้องหมู่พระที่นั่งพิมานมงกุฎ
เป็นลักษณะสถาปัตย กรรมผสมแบบตะวันตก จัดแสดงเรื่องสมัยก่อนประวัติศาสตร์ จัดแสดงหลักฐานโบราณวัตถุสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่พบจากแหล่งโบราณคดีลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณภาคกลางของประเทศไทยและแหล่งโบราณคดี จังหวัดลพบุรี โครงกระดูกมนุษย์ ภาชนะดินเผา เตาดินเผา เครื่องมือเครื่องใช้ทำจากโลหะ ภาชนะสำริด เครื่องประดับทำจากหินและเปลือกหอย เป็นต้น

ห้องภาคกลางประเทศไทย
พ.ศ.800-1500 รับอิทธิพลวัฒนธรรมของอินเดียที่เรียกว่า สมัยทวารวดี จัดแสดงเรื่องการเมือง การตั้งถิ่นฐาน เทคโนโลยีและการดำเนินชีวิต อักษร ภาษา ศาสนสถาน ศาสนาและความเชื่อถือ หลักฐานที่พบได้แก่ พระพุทธรูป พระพิมพ์ดินเผา เหรียญตราประทับดินเผา จารึกภาษาบาลี สันสกฤต และรูปเคารพต่าง ๆ

ห้องอิทธิพลศิลปะเขมร - ลพบุรี
ที่พบในภาคกลางของประเทศไทย อายุราวพุทธศตวรรษที่ 15 - 18 จัดแสดงหลักฐานทางประวัติศาสตร์ โบราณคดีสมัยชนชาติขอมแผ่อิทธิพลเข้าปกครองเมืองลพบุรี และบริเวณภาคกลางของประเทศไทย ได้แก่ ทับหลัง พระพุทธรูปปางนาคปรก พระพุทธรูปปางประทางอภัย เป็นต้น

ห้องประวัติศาสตร์ศิลปะในประเทศไทย
ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 12 - 18 ศิลปกรรมที่พบตามภาคต่าง ๆ ของประเทศไทย ได้แก่พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร พระพิมพ์ และพระพุทธรูปสำริดสมัยต่าง ๆ

ห้องประวัติศาสตร์ศิลปกรรมสมัยอยุธยา - รัตนโกสินทร์
ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 18 -24 ได้แก่ พระพุทธรูป เครื่องถ้วย เงินตรา อาวุธ เครื่องเงิน เครื่องทอง และชิ้นส่วนสถาปัตยกรรมปูนปั้น และไม้แก่สลักต่าง ๆ

ห้องศิลปะร่วมสมัย
จัดแสดงภาพเขียนและภาพพิมพ์ศิลปะร่วมสมัยของศิลปินไทย

ห้องประวัติศาสตร์
การเมือง สังคม วัฒนธรรมและพระราชประวัติของสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) ซึ่งโปรดฯ ให้และสร้างพระราชวัง ณ เมืองลพบุรี เมื่อ พ.ศ.2399 ได้แก่ ภาพพระสาทิสลักษณ์ ฉลองพระองค์ เครื่องใช้ แท่นบรรทม เหรียญทอง และจานชามมีสัญลักษณ์มีรูปมงกุฎตราประจำพระองค์ เป็นต้น

ห้องหมู่ตึกพระประเทียบ
เป็นอาคารลักษณะสถาปัตยกรรมผสมแบบตะวันตก จัดแสดงเรื่องชีวิตไทยภาคกลาง การดำรงชีวิต ที่อยู่อาศัย เครื่องมือ เครื่องใช้ประกอบอาชีพประมง การเกษตร และศิลปหัตกรรมพื้นบ้านของคนไทยในภาคกลาง โดยเฉพาะจังหวัดลพบุรีที่ใช้ในอดีตจรถึงปัจจุบัน

นอกจากนี้ทางพิพิธภัณฑ์ฯ ยังมีการจัดนิทรรศการเกี่ยงกับประวัติศาสตร์ โบราณคดี และศิลปวัฒนธรรมให้ชมกันเป็นครั้งคราว

การเข้าชม พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสมเด็จพระนารายณ์ฯ เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 8.30 - 16.30 น. หยุดวันจันทร์ - วันอังคารและวันหยุดนักขัตฤกษ์ การเข้าชมผู้เข้าชมจะต้องเสียค่าเข้าชม ชาวไทยคนละ 10 บาท ชาวต่างประเทศ 30 บาท สำหรับนักเรียน นักศึกษาและพระภิกษุ สามเณรไม่ต้องเสียค่าเข้าชม ติดต่อขอรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์ ถนนสรศักดิ์ อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี 15000 โทร. (036) 411458

หมู่บ้านดินสอพอง (ทำดินสอพอง)
อยู่ที่บ้านหินสองก้อน ตำบลถนนใหญ่ ใช้เส้นทางไปอำเภอบ้านหมี่ ข้ามสะพาน 6 แล้วเลี้ยวซ้ายเลียบคลองชลประทาน เป็นหมู่บ้านที่มีการทำดินสอพองกันแทบทุกครัวเรือน และบริเวณนั้นจะมีดินสีขาว เรียกว่า “ดินมาร์ล” ซึ่งเป็นดินที่มีคุณสมบัติเฉพาะสำหรับการทำดินสอพอง

วัดยาง ณ รังสี และพิพิธภัณฑ์เรือพื้นบ้าน
ตั้งอยู่หมู่ 2 ตำบลตะลุง อำเภอเมืองลพบุรี ริมฝั่งแม่น้ำลพบุรีด้านตะวันตก ด้านหน้าติดทางหลวงสายลพบุรี - บางปะหัน อยู่ห่างจากตัวเมืองไปทางทิศใต้ประมาณ 9 กิโลเมตร เดิมเรียกว่า วัดพญายาง เนื่องจากภายในบริเวณวัดมีต้นยางยักษ์ใหญ่ตระหง่านเป็นสัญลักษณ์ท่ามกลางดงต้นยาง สันนิษฐานกันว่าเดิมเป็นวัดโบราณอยู่กลางป่า น่าจะมีอายุตั้งแต่สมัยละโว้ เพราะมีประติมากรรมหินทรายประดิษฐานอยู่ภายในพระอุโบสถของวัด คือ พระพุทธรูปปางนาคปรก 2 องค์ พระพุทธรูปปางมารวิชัย 1 องค์ และพระพุทธรูปปางสมาธิ 1 องค์ เป็นเนื้อหินทรายและหินหนุมาน (หินสีเขียว) รูปทรงเป็นแบบสมัยของเรืองอำนาจ ต่อมาในสมัยกรุงศรีอยุธยาได้มีการบูรณะปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่และเปลี่ยนชื่อใหม่ถึง 2 ครั้ง เดิมเป็นวัดยางศรีสุธรรมาราม แล้วเปลี่ยนเป็นวัดยาง ณ รังสี จนถึงปัจจุบัน

พิพิธภัณฑ์เรือพื้นบ้าน
ตั้งอยู่ที่ศาลากลางเปรียญไม้ สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2470 ตั้งอยู่ริมแม่น้ำลพบุรี เป็นสถาปัตยกรรมแบบศาลาวัดในชนบทของภาคกลางในประเทศไทย ซึ่งนับวันจะหาดูได้ยาก ต่อมาได้มีการบูรณะซ่อมแซมแล้วเสร็จในปี พ.ศ.2531 โครงการพิพิธภัณฑ์เรือพื้นบ้านจึงได้เกิดขึ้น และนับเป็นพิพิธภัณฑ์เรือพื้นบ้านแห่งแรกของประเทศไทย

วัดตองปุ
หลังโรงเรียนพิบูลวิทยาลัย ตำบลทะเลชุบศร เป็นวัดเก่าแก่ที่มีความสำคัญวัดหนึ่ง ในอดีตเคยเป็นที่ชุมนุมกองทัพไทย ในวัดตองปุนี้มีโบราณสถานและโบราณวัตถุที่น่าสนใจหลายอย่าง เช่น พระอุโบสถ วิหาร หอไตร คลัง และหอระฆัง ล้วนเป็นสถาปัตยกรรมในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ฯ ภายในพระวิหารมีจิตรกรรมฝาผนังเขียนรอบทั้งสี่ด้านล้วนเป็นภาพที่หาดูได้ยาก นอกจากนี้ยังมีเจดีย์ลักษณะคล้ายกับเจดีย์หลวงพ่อแสง วัดมณีชลขัณฑ์แต่มีขนาดเล็กกว่า และสัดส่วนงดงาม

วัดสิริจันทรนิมิตรวรวิหาร (วัดเขาพระงาม)
ตั้งอยู่ห่างจากศาลากลางจังหวัดลพบุรีไปทางทิศเหนือตามถนนพหลโยธินไปประมาณ 12 กิโลเมตร อยู่ในเขตตำบลเขาพระงาม วัดเขาพระงามนี้เดิมเป็นวัดร้าง สร้างมาแต่เมื่อใดไม่มีปรากฏ ต่อมาในปี พ.ศ.2455 พระอุมาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจันโท) เจ้าอาวาสวัดบรมนิวาส กรุงเทพฯ กับพระสงฆ์อีกรูปได้ธุดงค์มาพักที่วัดนี้ เห็นว่ามีภูมิประเทศดี จึงได้สร้างพระพุทธรูปที่มีหน้าตักกว้าง 11 วา สูงจากหน้าตักถึงยอดพระเศียร 18 วา เส้นพระศกทำด้วยไหกระเทียม เมื่อสร้างเสร็จได้ถวายพระนามว่า พระพุทธนฤมิตรมัธยมพุทธกาล ครั้นภายหลังซ่อมเมื่อปี พ.ศ.2469 จึงเปลี่ยนนามใหม่ว่า “พระพุทธปฏิภาคมัธยมพุทธกาล”

บริเวณวัดมีกิจกรรมที่กำลังเป็นที่สนใจของคนทั่วไปคือ การขายพลอยสีต่าง ๆ ที่เจียรไนจากหินควอท์ซึ่งขุดได้จากบริเวณเขาพระงาม เรียกว่า “เพชรพระงาม” ราคาพอสมควรที่นักท่องเที่ยวทุกระดับจะซื้อเป็นของที่ระลึกได้ ปัจจุบันมีแผงขายเพชรพระงามตั้งอยู่บริเวณลานหน้าวัด

วัดเวฬุวัน (วัดเขาจีนแล)
อยู่ในหุบเขาจีนแล ตำบลนิคมสร้างตนเอง อยู่ห่างจากศาลากลางจังหวัดลพบุรีประมาณ 18 กิโลเมตร ทางเข้าเป็นถนนราดยางสภาพดี

เดิมบริเวณที่ตั้งวัดนี้เป็นป่าทึบเต็มไปด้วยต้นไผ่ พระครูอุบาลี ธรรมมาจารย์ (หลวงพ่อลี) ได้ธุดงค์มาถึงที่นี่เห็นภูมิประเทศเหมาะสมจึงได้ตั้งสำนักสงฆ์ขึ้น

วัดเขาจีนแลเป็นวัดที่สร้างขึ้นใหม่ สถานที่ร่มรื่น มีภูเขาล้อมรอบสี่ด้าน เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญ 2 องค์ คือ พระพุทธรูปใหญ่ที่หลวงพ่อลีสร้าง และพระพุทธรูปที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันทรงสร้างประดิษฐานอยู่บนยอดเขา มีโบสถ์รูปทรงแปลก จั่วเป็นซุ้มกุทุแบบอินเดีย รวมถึงหอสมุดและสำนักชี

วัดสุวรรณคีรีปิฎก (วัดเขาตะกร้า)
ตั้งอยู่เลยอ่างซับเหล็กเข้าไปมีถนนโรยกรวดเข้าไปถึงวัด ใกล้กับวัดเวฬุวัน ตำบลนิคมสร้างตนเอง สร้างมาตั้งแต่ พ.ศ. 2501 โดยหลวงพ่อบุญเหลือ ปภาโส เป็นวัดที่สร้างกุฏิและวิหารเกาะกับภูเขา มีเจดีย์สร้างใหม่องค์หนึ่งลักษณะงดงามดี วัดนี้ชาวไทยเชื้อสายจีนนิยมไปสักการะศพหลวงพ่อบุญเหลือ ซึ่งมรณภาพไปตั้งแต่ พ.ศ. 2517 เก็บไว้ในหีบแก้วแต่ไม่เน่าเปื่อยเพียงแต่แห้งไป

บ้านท่ากระยาง (หล่อรูปโลหะและดินสอพอง)
อยู่ในเขตอำเภอเมืองลพบุรี หลังวัดตองปุ เดิมเป็นหมู่บ้านช่างหล่อ มีอาชีพหล่อพระพุทธรูปด้วยโลหะ ต่อมาเริ่มหล่อรูปโลหะอื่นๆ เป็นประเภท ของที่ระลึกและเลียนแบบของเก่าด้วย เช่น รูปสัตว์ประจำปีนักษัตริย์ รูปหนุมาน เทวรูปพระกาฬ ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีการทำดินสอพองเม็ดเล็กแบบเก่าอีกด้วย

ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดลพบุรี
ตั้งอยู่ภายในบริเวณสถาบันราชภัฏเทพสตรีลพบุรี มีหน้าที่ทะนุบำรุงส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมไทย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดศูนย์วัฒนธรรมนี้เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2524 ภายในหอวัฒนธรรมได้จัดนิทรรศการเกี่ยวกับจังหวัดลพบุรีหลายด้าน เช่น แผนที่จังหวัด ตำนาน-นิทานพื้นบ้าน แผนที่ทางภาษา นอกจากนั้นยังเก็บรวบรวมและจัดแสดงเอกสารโบราณที่พบในจังหวัดอีกด้วย

 
 หน้าแรก  บทความ  เว็บบอร์ด  รวมรูปภาพ
view